Digital Transformation with Analytics and Data Technologies

ในช่วงโมงนี้ คงหลีกหนีจากคำว่า Digital Transformation ไปไม่ได้ เนื่องจากความผันผวน ความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมธุรกิจ หรือที่หลายคนพูดกันว่าเราอยู่ในโลกยุค VUCA ซึ่งมาจากคำว่า Volatility (ความผันผวน) Uncertainty (ความไม่แน่นอน) Complexity (ความซับซ้อน) และ Ambiguity (ความไม่ชัดเจน) ส่งผลให้บริษัทหรือธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการดำเนินเงินให้คงความสามารถทางการแข่งขันไว้ให้ได้
ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจก็ได้เริ่มมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปรับรูปแบบการดำเนินงาน แต่ทำไมถึงยังไม่เพียงพอต่อโลกในยุค VUCA นั่นก็เพราะว่าในยุคปัจจุบันนั้น Digital Technology เข้ามาเป็นตัวเร่งกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกขององค์กร ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่หรือสินค้าทดแทนเป็นไปได้ง่ายขึ้น แรงกดดันเหล่านี้ ผลักดันให้องค์กรต้องทำอะไรที่มากกว่าแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อคงสมรรถนะทางการแข่งขัน
Digital Transformation ≠ IT-enabled Transformation
สิ่งที่ Digital Transformation แตกต่างออกไปจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาองค์กร หรือ IT-enabled Transformation คือ ขอบเขตผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงและรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาใช้
Digital Transformation เน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ คาดหวังให้เกิดผลกระทบทั้งในระดับองค์กร อุตสาหกรรม สังคม โดยการผสมผสานการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีร่วมกัน เช่น การพัฒนา Mobile Application เพื่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมและความชอบของลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนารูปแบบการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า
ถ้ามองย้อนกลับไปถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธุรกิจนั้น สามารถสรุปได้ 4 ประการดังนี้
- Automate ใช้เทคโนโลยีเข้ามาลดแรงงานคน เช่น การนำตู้ Kiosk มาใช้เพื่อให้บริการในรูปแบบของ self-service
- Informate-up สรุปรวบรวมสารสนเทศสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์วินิจฉัยสั่งการได้อย่างทันท่วงที
- Informate-down กระจายข้อมูลที่สำคัญให้คนทุกระดับในองค์กรได้สามารถนำไปตัดสินใจ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เช่น Call Center ที่มีข้อมูลพร้อมอนุมัติขยายวงเงินบัตรเครดิตให้กับลูกค้า
- Transform เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เช่น Netflix ที่เปลี่ยนรูปแบบจากร้านเช่า DVD มาเป็น Movie Streaming App หรือ สถานีวิทยุที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Variety Show หรือ Talk Show

Keys to Successful Transformation: Business Model
การเปลี่ยนแปลงหรือการพลิกโฉมรูปแบบการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนำเทคโยโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ แต่เกิดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบ Business Model หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง Kavadias, Ladas, และ Loch ได้สรุปไว้ในบทความที่ชื่อว่า The transformative business model ตีพิมพ์ใน Harvard business review ไว้ว่า 6 จุดเด่นของ Business Model ที่ได้รับความสำเร็จทางธุรกิจนั้น มีดังนี้
- Personalization หรือการนำเสนอเฉพาะตัวบุคคล
- Closed loop นำสินค้าที่บริโภคแล้วมา Recycle เพื่อลดต้นทุนการใช้ทรัพยากร
- Asset sharing นำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาแบ่งใช้ เช่น รถยนต์ หรือ อสังหาริมทรัพย์
- Usage-based pricing เปลี่ยนจากการขายขาด เป็นคิดราคาจากปริมาณการใช้งาน
- Collaborative ecosystem เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันกับบริษัทหรือหน่วยงานคู่ค้า
- Agility ปรับรูปแบบการทำงานให้มีความคล่องแคล่ว ว่องไว
Driving Transformation with Analytics and Data Technologies
การวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีข้อมูล เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อน Digital Transformation โดยทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อน Innovative Business Model ที่องค์กรพัฒนาขึ้นดังนี้
- ใช้ Recommendation Engine เป็นกลจักรในการนำเสนอสินค้า บริการ หรือ เนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้หรือลูกค้า โดยทำการเก็บรวบรวมพฤติกรรมการใช้งานเพื่อนำมาทำการวิเคราะห์ประเมินความสนใจของลูกค้าในแต่ละราย และทำนายสินค้าบริการที่ลูกค้าให้ความสนใจ ตัวอย่างเช่น Spotify หรือ YouTube
- ใช้ Analytics สำหรับวิเคราะห์การทดแทนการผลิตด้วยวัตถุดิบจากการรีไซเคิล วิเคราะห์การขนส่งหมุนเวียนสินค้าใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานในรูปแบบของ Closed-loop Supply Chain
- Analytics สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้ธุรกิจที่มี Business Model ในรูปแบบ Asset Sharing มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำมาช่วยจับคู่ความต้องการของผู้ใช้ และสินทรัพย์ รวมถึงวางแผนกระจายความต้องการการใช้งานของสินทรัพย์ เพื่อให้มีการใช้งานสินทรัพย์ให้ประสิทธิภาพมากขึ้น
- ในการดำเนินธุรกิจแบบ Usage-based pricing model นั้น Analytics สามารถนำมาใช้เพื่อปรับราคาให้เหมาะสมกับระดับของอุปสงค์และอุปทานในตลาด หรือที่เรียกกันว่า Dynamic Pricing

5. ในการทำงานรูปแบบของ Collaborative Ecosystem นั้น ความรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การรอ เช่น การรอการตัดสินใจ ย่อมส่งผลเสียต่อการทำงานร่วมกันกับคู่ค้า Analytics และ Data Technologies สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างกระบวนการ Algorithmic Decision-Making หรือ การตัดสินใจแบบอัตโนมัติจากการประมวลผล ทำให้การทำงานร่วมกันนั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่ต้องรอการตัดสินใจจากอีกฝ่าย
6. เพื่อสร้าง Agility ให้กับองค์กร ข้อมูลและสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการสะท้อนภาพสถานะการดำเนินงานขององค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถปรับกลยุทธ์ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ฉับไวของสิ่งแวดล้อมได้
Analytics and Data Technologies จึงเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อน Digital Transformation ให้กับองค์กร สิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรควรให้ความสนใจ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จนั้น ไม่ได้เกิดจากการจัดหาเทคโนโลยี แต่เป็นการปรับรูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจ หรือ การพัฒนา Business Model แบบใหม่ และเลือกใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน
Credit Photo by : https://unsplash.com/

เขียนโดย
อาจารย์ ดร.ธนชาตย์ ฤทธิ์บำรุง
ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีข้อมูล (MADT)
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์